‘ประเทศยักษ์ใหญ่ของทวีปเอเชีย’ เดินหน้าเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมที่พักทั่วโลกในทิศทางบวก เจาะลึกอิทธิพลของนักเดินทางชาวจีนและอินเดียต่อประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ โดย แบรด ไฮนส์ รองประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค บริษัท SiteMinder

by TeawFinKinShop

 ในปี 2543 ราว 3% ของประชากรจีนเท่านั้นที่จัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง ต่อมาในปี 2561 ประชากรจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศหรือประมาณ 700 ล้านคน ได้ก้าวเข้าสู่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง และคาดว่าภายในปี 2576 สัดส่วนประชากรชาวจีนกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน จะมีเงินเพียงพอเพื่อใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดยมีสัดส่วนชนชั้นกลาง คิดเป็นสัดส่วน 31% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 38% ภายในปี 2574 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2576 จำนวนครอบครัวชาวอินเดียมากกว่า 3 เท่า จะมีกำลังซื้อมากพอในการเดินทางระหว่างประเทศได้ เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

ถามว่าพวกเราอาจจะประเมินผลกระทบเชิงบวกของนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียที่มีต่อการจองที่พักในอีก 10 ปีข้างหน้าน้อยไปหรือไม่? หากประเมินจากอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ความต้องการในการเดินทาง รวมถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแล้ว ผมตอบได้เลยว่าเป็นไปได้

ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย ที่เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ร่วมลงนามข้อตกลงยกเลิกการขอวีซ่าถาวรสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงสร้างความน่าดึงดูดต่อนักท่องเที่ยวจีน โดยภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการประกาศข้อตกลงยกเว้นวีซ่าถาวรดังกล่าว ผู้ให้บริการจองที่พักและบริการการท่องเที่ยวออนไลน์ของจีนอย่าง Trip.com พบว่ามียอดการค้นหา คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับ “ประเทศไทย” บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจำนวนถึง 8 ล้านรายเดินทางมาประเทศไทยในปีนี้ ภายหลังจากการประกาศดังกล่าว

เช่นเดียวกันกับช่วงเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายยกเว้นวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย เว็บไซต์ท่องเที่ยวและจองที่พักอย่าง อโกด้า (Agoda) รายงานว่ามียอดการค้นหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับ “ประเทศไทย” เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ซึ่งตอกย้ำความสำคัญของประเทศอินเดียในฐานะหนึ่งในตลาดนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย

นอกจากผลประโยชน์ระยะสั้นที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์เชิงลึกยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสอีกมากมายที่ทั้งสองประเทศจะมอบให้ ไม่เพียงต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ให้บริการที่พักทั่วโลกอีกด้วย

รายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมากกว่า 10,000 คนทั่วโลก โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและอินเดียถึง 1,600 คน พบว่า 77% ของนักเดินทางชาวจีน และ 78% ของนักเดินทางชาวอินเดีย มี ‘แนวโน้ม’ หรือ ‘มีโอกาสมาก’ ที่จะท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 57%

แม้ว่าสถิติดังกล่าวจะชี้ไปที่ตัวเลขเช็คอินที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของนักเดินทางเหล่านี้ที่เราพบ จะยิ่งเป็นตัวที่บ่งชี้ถึงผลกระทบเชิงบวกที่แท้จริงในอนาคตได้

เจาะลึกอิทธิพลของนักเดินทางชาวจีนและอินเดียที่คาดว่าจะส่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แน่นอนว่านักท่องเที่ยวทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความแตกต่างระหว่างบุคคลหรือวัฒนธรรม ซึ่งรายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder  มีจุดมุ่งหมายที่จะระบุพฤติกรรมหลัก ๆ ของนักท่องเที่ยวที่มีความคล้ายคลึงกันจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการที่พักสามารถให้บริการแขกได้ดียิ่งขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก มีแนวทางปรับตัวสำคัญ 5 ประการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียมีแนวโน้มที่จะผลักดันอุตสาหกรรมให้พัฒนาไปในชิงบวกในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวเลขนักท่องเที่ยวจากประเทศทั้งสองเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ นับเป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมใช้ในการพิจารณาเพื่อวางกลยุทธ์รับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต

1. การเติบโตทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จะยิ่งเร่งให้ธุรกิจที่พักมีการปรับใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

รายงานของ SiteMinder เผยว่านักเดินทางชาวจากทั้งจีนและอินเดียจัดอยู่ในแถวหน้าของการใช้เทคโนโลยีทั่วโลก

อันจะเห็นได้จาก นักท่องเที่ยวชาวจีนมองว่าการมีแชทบอทบนเว็บไซต์ของสถานที่พักเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งความต้องการนี้เพิ่มขึ้นถึง 150% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวชาวอินเดียก็มองว่าการเข้าถึงและใช้งานเว็บไซต์ของที่พักบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกเป็นเรื่องสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวชาวจีน (88%) และนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย (84%) มี ‘แนวโน้ม’ หรือ ‘มีโอกาสมาก’ ที่จะใช้ AI ในการแนะนำสถานที่พัก (เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 52%) นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีน (92%) และนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย (87%) เปิดกว้างกับการนำ AR และ VR มาใช้ในการสำรวจที่พักหรือการสร้างประสบการณ์ใหม่ระหว่างการเข้าพัก (เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 67%)

ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศต้องการประสบการที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบนช่องทางออนไลน์ หรือเมื่อไปถึงสถานที่พัก โดยในทั้งสองกรณี นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย ประมาณ 50% ต้องการให้ที่พักติดต่อสื่อสารกับพวกเขาผ่านอุปกรณ์เมื่ออยู่ที่ที่พัก และมากกว่า 9 ใน 10 มองว่าการจองที่พักและประสบการณ์การพักผ่อนของพวกเขาจะดีมากยิ่งขึ้นได้ หากธุรกิจที่พักมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากยิ่งขึ้น

2. แนวโน้มการเลิกจองระหว่างทางบนเว็บไซต์จะกดดันให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนกันมากขึ้น

นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเกือบ 70% มีแน้วโน้มมากที่สุดในโลกที่จะไม่ดำเนินการจองที่พักต่อหากพบเจอประสบการณ์ดิจิทัลที่ไม่ดี และนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 50% ที่จะไม่ดำเนินการจองที่พักต่อเช่นกัน หากพบเจอเว็บไซต์ที่ประเมินผลช้า รวมถึงเว็บไซต์ที่ดูไม่ปลอดภัย ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ นับเป็นข้อกังวลสำคัญที่นักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศคำนึงถึง

3. การเปิดรับต่อบริการเสริมของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมองหาเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มรายได้

นักท่องเที่ยวชาวจีน (52%) และนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย (51%) ต้องการได้รับบริการที่ปรับให้ตรงกับความต้องการส่วนบุคคลมากกว่าเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนมีแนวโน้มที่จะจองบริการรับส่งสนามบินมากที่สุด ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียมีแนวโน้มที่จะจองบริการสปาทรีตเมนต์มากที่สุด โดยนักท่องเที่ยวมากกว่า 90% จากทั้งสองประเทศ ยินดีที่จะจ่ายบริการเสริมในการเข้าพักครั้งถัดไป ที่นอกเหนือจากค่าห้องพัก

4. แนวโนมที่จะทํางานในการเดินทางครั้งถัดไป ช่วยให้มั่นใจว่าแผนเดินทางแบบ Bleisure ยังคงมีความสำคัญ

นักเดินทางชาวจีนและอินเดียส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโนมที่จะทํางานในการเดินทางครั้งถัดไป แม้ว่าการเดินทางแบบ Bleisure จะลดลงทั่วโลกเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนก็ตาม นักเดินทางชาวอินเดียถึง 60% วางแผนที่จะทำงานระหว่างการเข้าพักครั้งต่อไป ซึ่งนับว่าสูงที่สุดและสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 24%  ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเกือบ 50% ตั้งใจที่จะทำงานในระหว่างการเดินทางครั้งต่อไปด้วยเช่นกัน

5. ความต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ระหว่างการเข้าพักจะผลักดันให้ที่พักเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญมากขึ้น

สุดท้ายนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล แสดงให้เห็นว่าประสบการณ์แปลกใหม่ระหว่างการเข้าพักเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย มากกว่านักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณครึ่งหนึ่งเลือกที่จะกลับมาใหม่หากที่พักมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า และเมื่อนักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์การเข้าพักที่ “แตกต่าง” มากขึ้น “เรื่องของราคา” ของสถานที่พักก็จะมีความหมายน้อยลงไปเรื่อย ๆ ทุกปี โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอินเดียถึง 2 ใน 3 กล่าวว่า “ประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม” (เช่น อาหารและเครื่องดื่ม สปา หรือการจัดงาน) ปัจจุบันมีความสำคัญมากกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียวางแผนที่จะใช้เวลาในสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยคาดว่าความต้องการประสบการณ์ที่แปลกใหม่นี้จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมที่พักทั่วโลก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่สามารถเดินทางไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2576 และในขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมเตรียมพร้อมในการเปิดรับโอกาสที่เกิดขึ้น ไม่เพียงปริมาณเช็คอินที่จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขาควรเตรียมรับมือกับพฤติกรรมและความต้องการของนักเดินทางจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมให้ดีขึ้นเช่นกัน

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมรายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder ได้ที่นี่

You may also like

Green House Media and Event Co.,Ltd.

252 Soi Lat Phrao 93, Lat Phrao Road,
Khlong Chaokhun Sing, Wang Thonglang,
Bangkok 10310

Contact us: news@joinalife.com

© 2024 TeawFinKinShop. All rights reserved. Design & Developed By : R Web Design